Pages

Wednesday, August 26, 2020

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองเข้าร่วมการค้าเสรีหนุนการลงทุน-ส่งออกอุตฯรถยนต์ไทย - efinanceThai

bolasisoccer.blogspot.com

  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ปัจจุบันค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วน โดยเฉพาะค่ายญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะปรับรูปแบบกระบวนการผลิตจากเดิมที่เน้นการลดต้นทุนแบบ Lean Production เป็นการผลิตแบบ Agile Supply Chain มากขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองได้ทันต่อสถานการณ์ต่างๆที่อาจเปลี่ยนแปลงไปได้มากขึ้น

  ส่งผลให้การเลือกหาฐานการผลิตเพื่อรองรับต่อรูปแบบการผลิตใหม่ดังกล่าวมีความสำคัญขึ้นมา และหนึ่งในปัจจัยที่นักลงทุนใช้เลือกประเทศฐานการผลิตรูปแบบใหม่ คือ การมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศฐานผลิตอื่นนอกภูมิภาคมากขึ้น อันจะทำให้การดำเนินงานแบบ Agile Supply Chain เกิด Economies of Scale ได้ง่ายยิ่งขึ้น

   ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การเข้าร่วมกลุ่มการค้าเสรี เช่น CPTPP อาจช่วยขยายโอกาสในการลงทุนและส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังญี่ปุ่นและเม็กซิโกได้มากขึ้น* ผ่านการเชื่อมโยงการค้าที่เข้มข้นขึ้นของทั้ง 2 ทวีป คือ อเมริกา (เม็กซิโกและแคนาดา) และเอเชีย (ญี่ปุ่น)

  โดยไทยมีโอกาสจะพัฒนาขึ้นไปเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนในห่วงโซ่อุปทานของทั้ง 2 กลุ่มนี้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อค่ายรถนิยมใช้แพลตฟอร์มร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสที่จะส่งออกรถยนต์ไปเม็กซิโกเพิ่มขึ้นเช่นกัน หลังเม็กซิโกต้องปรับลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0

  ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าหากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม CPTPP ไทยน่าจะมีโอกาสส่งออกรถยนต์ได้มากขึ้นเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 8,500 ล้านบาท และส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท* ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้จะเกิดได้ต่อเมื่อการแสดงท่าทีของรัฐบาลในการเข้าร่วมเจรจานั้นไม่ล่าช้าเกินจนไป และการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ายังเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

  จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดเป็นวงกว้างของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์โลกต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน นำมาสู่ทิศทางการปรับวิธีการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่เพื่อลดความเสี่ยงทั้งของค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนโลก

   โดยเน้นการใช้กลยุทธ์แบบ Agile Supply Chain ซึ่งมีความยืดหยุ่นและตอบสนองได้รวดเร็วต่อสถานการณ์ต่างๆมากขึ้น แทนการเน้นลดต้นทุนด้วยแนวทางการผลิตแบบ Lean Production เช่น กลยุทธ์การผลิตแบบ Just-In-Time ดังที่ทำมาในอดีต

  ด้วยรูปแบบการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ทำให้การเข้ามาอยู่ในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆที่มีความเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากภายในภูมิภาคตนเองกลายมามีผลต่อการดึงดูดการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้นนับจากนี้

   เนื่องด้วยกลยุทธ์ Agile Supply Chain นี้ ค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนจะปรับมาเลือกหาฐานการผลิตหลักที่เหมาะสมในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้สามารถลดต้นทุนได้จากการเกิด Economies of scale ในการผลิต รวมถึงส่งออกไปยังฐานผลิตหลักในภูมิภาคอื่นเมื่อจำเป็นได้

  ไม่เพียงเท่านั้น เราต่างทราบกันดีว่าปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีรถยนต์แห่งอนาคตนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ทำให้หากไม่มีการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในประเทศ หรือพัฒนาศักยภาพในการส่งออกผ่านการมีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศที่เป็นตลาดหลักแล้ว

  โอกาสที่กระแสการลงทุนจากต่างประเทศจะเข้ามาเพื่อให้ไทยได้เชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอาจลดลง โดยเฉพาะเมื่อรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตมีความจำเป็นต้องพึ่งชิ้นส่วนน้อยลงกว่าเดิมมาก

  ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า การเร่งพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ โดยเฉพาะกับประเทศที่เป็นตลาดหลักของโลก เช่น ข้อตกลงความเข้าใจและความคืบหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก หรือ CPTPP

  อาจเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่นอกจากจะทำให้โอกาสในการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้นไปยังตลาดนอกฐานภูมิภาคเดิมแล้ว ยังจะช่วยรักษาความน่าสนใจของไทยในการดึงดูดลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมรถยนต์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกระแสของการโยกย้ายฐานการผลิตออกจากจีนหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ดังรายละเอียดต่อไปนี้

Agile Supply Chain ทิศทางใหม่ห่วงโซ่อุปทานอุตฯรถยนต์และชิ้นส่วน

  Agile Supply Chain การจัดกระบวนการทำงานในห่วงโซ่อุปทานที่เน้นความยืดหยุ่นและการตอบสนองที่รวดเร็วต่อการเปลี่ยนแปลงดังเช่นวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคหนึ่งๆ การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ หรือแม้แต่การประท้วงหยุดงานในโรงงานใดโรงงานหนึ่ง เพื่อให้ธุรกิจในภาพรวมยังคงสามารถดำเนินการผลิตต่อได้ในสถานการณ์ดังกล่าว

  ได้กลายมาเป็นประเด็นที่กำลังถูกยกมาพูดถึงกันมากสำหรับการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานรถยนต์และชิ้นส่วนนับจากนี้หลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งรูปแบบของการดำเนินงานของธุรกิจในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนโลกที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าน่าจะทยอยเกิดขึ้นมาให้เห็นเพื่อการปรับเข้าสู่ Agile Supple Chain ของทั้งอุตสาหกรรม โดยมีผลต่ออุตสาหกรรมในไทยด้วย แบ่งออกเป็น 2 ด้านหลัก ดังนี้

  การพยายามทำให้เกิด Shortened Supply Chain มากที่สุด เพื่อการบริหารจัดการต้นทุนและคุณภาพให้มีโอกาสที่จะผลิตถึงจุด Economies of Scale ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น การดีไซน์แพลตฟอร์มร่วมระหว่างหลายรุ่นรถยนต์ การนำหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นต่างๆมาใช้ในการผลิต

  ซึ่งแนวทางนี้คาดว่าจะมีผลทำให้กิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทยมีการควบรวมกิจการมากขึ้นได้ในระยะข้างหน้า รวมถึงอาจมีการควบรวมและถ่ายโอนชิ้นส่วนหรือกำลังการผลิตจากโรงงานในต่างประเทศเข้ามารวมศูนย์ที่ไทยด้วย ซึ่งแม้จะทำให้จำนวนผู้ผลิตชิ้นส่วนโดยรวมลดลง แต่ประสิทธิผลในการผลิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้น

  การเฟ้นหาฐานผลิตหลักของภูมิภาค โดยนักลงทุนมีแนวโน้มที่จะมองประเทศที่เข้าร่วมกลุ่มการค้าเสรีกับนานาประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่นอกภูมิภาคตนเอง เนื่องจากการผลิตแบบ Agile Supply Chain ต้องการความยืดหยุ่นสูง ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและรวดเร็ว และที่สำคัญคือมีต้นทุนในการขนส่งสินค้าข้ามไปหากันที่ต่ำเพื่อช่วยในการลดต้นทุน เพื่อรับมือกับกรณีเร่งด่วนต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

  จากทิศทางการพัฒนาสู่ Agile Supply Chain ของอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนโลกด้วยแนวทางดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ในระยะไม่เกิน 15 ปีข้างหน้า ไทยจะยังคงความเป็นฐานการผลิตที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคสำหรับการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอยู่สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน รวมถึงรถยนต์ไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดที่จะขึ้นมาเป็นรุ่นมาตรฐานในอนาคต

  เนื่องจากไทยมีคลัสเตอร์การผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปภายในซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ประเภทนี้ รวมถึงในอนาคตที่แม้สัดส่วนของตลาดรถยนต์ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในทั้งในไทยและอาเซียนจะลดลง แต่มีแนวโน้มที่ฐานการผลิตในประเทศอาเซียนอื่นจะมารวมศูนย์ที่ไทยมากขึ้นเพื่อรักษาระดับการผลิตให้เกิด Economies of Scale ทำให้ไทยยังคงรักษาระดับการผลิตรถยนต์กลุ่มดังกล่าวในระดับสูงได้อยู่

  ทว่าในอนาคตเมื่อความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง ความต้องการชิ้นส่วนในการผลิตหลายตัวก็มีแนวโน้มจะลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อเครื่องยนต์ซึ่งมีชิ้นส่วนภายในประกอบอยู่เป็นจำนวนมากจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้อีก ส่งผลให้คลัสเตอร์ชิ้นส่วนรถยนต์ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญของไทยมีแนวโน้มจะลดความจำเป็นลงด้วย

  ขณะที่จีนเองก็กำลังพยายามจะสร้างฐานการผลิตรถยนต์นอกประเทศเพื่อขยายแบรนด์รถยนต์จีนออกสู่ตลาดโลกซึ่งก็ต้องพิจารณาถึงการเลือกฐานผลิตที่มีโอกาสทั้งการผลิตและการทำตลาดสูง ทำให้ไทยไม่ควรละเลยต่อความจำเป็นในการพิจารณาถึงประเด็นการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคต่างๆที่มีโอกาส เช่น CPTPP

   ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือหนึ่งที่มีความน่าสนใจในแง่ของการช่วยให้ไทยสามารถเข้าไปมีส่วนในห่วงโซ่อุปทานตลาดหลักฝั่งทวีปอเมริกาซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภครายสำคัญขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วย เพิ่มความน่าสนใจในการดึงดูดการลงทุนให้ไทยยังเป็นฐานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนสำคัญที่สุดของภูมิภาคดังเช่นปัจจุบัน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

หากไทยเข้าร่วมใน CPTPP อาจส่งผลดีต่ออุตฯรถยนต์และชิ้นส่วน

  สำหรับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงความเข้าใจและความคืบหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก หรือ CPTPP นั้น ในมุมของศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฉพาะกับอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนสำหรับเทคโนโลยีเดิมนั้น จะทำให้การตัดสินใจลงทุนต่างๆของค่ายรถและกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อปรับเข้าสู่กระบวนการผลิตแบบ Agile Supply Chain

  โดยใช้แพลตฟอร์มร่วม ในทวีปเอเชียและอเมริกานั้นเกิดได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้อาจเกิดการยกระดับรวมศูนย์การผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนของภูมิภาคอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นที่ไทย โดยเฉพาะสำหรับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน รถยนต์ไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด

  เพื่อเชื่อมโยงกับฐานการผลิตใหญ่ของภูมิภาคอีก 2 ภูมิภาคที่เป็นสมาชิกกลุ่ม CPTPP เช่นกัน คือ เม็กซิโกและแคนาดา (อเมริกาเหนือ) กับญี่ปุ่น (เอเชียตอนบน) โดยการพิสูจน์เรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าจะมีความสะดวกและราบรื่นมากขึ้น อันก่อให้เกิดภาพการเชื่อมโยงผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานใหม่

  ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งออกรถยนต์น่าจะเห็นผลได้อย่างชัดเจนก่อนอย่างอื่น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP อาจเป็นโอกาสให้ไทยส่งออกรถยนต์โดยตรงไปยังเม็กซิโกและแคนาดาเพิ่มขึ้น เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนี้ เป็นประเทศที่ไทยไม่เคยมีข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกันมาก่อน

  โดยเฉพาะเม็กซิโกที่เป็นตลาดส่งออกรถยนต์หลักอันดับ 8 ของไทยและปัจจุบันยังมีภาษีนำเข้ารถยนต์ที่สูงถึงร้อยละ 30 (แคนาดามีส่วนแบ่งในตลาดส่งออกของไทยเพียงร้อยละ 0.1 และมีระดับภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ต่ำอยู่แล้วประมาณร้อยละ 6.1) ซึ่งรถยนต์หลายรุ่นไทยผลิตเหมือนเม็กซิโกแต่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า จากต้นทุนแรงงานโดยเปรียบเทียบ และการที่ไทยพึ่งพิงชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศในระดับที่น้อยกว่ามาก

  โดยปัจจุบันไทยมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ที่สูงถึงกว่าร้อยละ 80 ขณะที่เม็กซิโกยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเพียงประมาณร้อยละ 30 เท่านั้น ทำให้ต้องแบกรับค่าใช้จ่าย เช่น ค่าขนส่งชิ้นส่วนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ในอนาคตที่คำสั่งซื้อรถยนต์บางส่วนจากบางรุ่นที่เม็กซิโกผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศอาจจะถูกโยกให้มาผลิตที่ไทยแทนได้มากขึ้นจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

  ซึ่งเป็นข้อดีของการใช้แพลตฟอร์มร่วมที่ทำให้การผลิตในลักษณะยืดหยุ่นเช่นนี้เกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก โดยประเภทรถยนต์ที่ไทยมีโอกาสส่งออกไปมากขึ้น ได้แก่ รถยนต์นั่งขนาดกลางลงไปและรถอเนกประสงค์ที่เป็นที่นิยมในตลาด รวมถึงรถปิกอัพ

  นอกจากนี้ ในส่วนของชิ้นส่วนรถยนต์ก็คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ไม่น้อยเช่นเดียวกัน หากเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม CPTPP ทั้งนี้ จากรูปแบบการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มสมาชิก CPTPP ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป โดยกันมาทำธุรกิจร่วมมากขึ้น ดังรายละเอียดแสดงในตารางหน้าถัดไป

  ไทยมีโอกาสส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะไปยังญี่ปุ่น เพื่อเข้าสู่สายการผลิตรถยนต์ที่จะส่งออกไปยังเม็กซิโกและแคนาดาที่เปิดเสรีเต็มที่ให้กับญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ซึ่งคาดว่าน่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่น้อย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เม็กซิโกและแคนาดานำเข้ารถยนต์หลักเป็นอันดับ 2 และ 3 ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่าร้อยละ 15 และ 8 ตามลำดับ

   ขณะเดียวกันก็มีโอกาสส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปเม็กซิโกได้มาก เนื่องจากเม็กซิโกมีการนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศนอกกลุ่ม USMCA ด้วยในระดับสูง เพื่อผลิตขายในประเทศหรือส่งออกไปประเทศอื่นนอกกลุ่ม USMCA

  อย่างไรก็ตาม หากแยกประเภทชิ้นส่วนรถยนต์แล้ว ชิ้นส่วนรถยนต์นั่งมีโอกาสในการส่งออกมากกว่ารถเพื่อการพาณิชย์ เนื่องจากการส่งออกรถยนต์จากญี่ปุ่นไปเม็กซิโกและแคนาดากว่าร้อยละ 93 เป็นรถยนต์นั่ง

  ขณะที่เม็กซิโกซึ่งแม้จะติดข้อกำหนดเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้าในกลุ่ม USMCA ที่สูงขึ้นก็จริง แต่เนื่องจากรถยนต์นั่งที่ผลิตในเม็กซิโกมีการส่งออกไปประเทศอื่นด้วย โดยเฉพาะในยุโรปและเอเชีย ทำให้ยังมีช่องให้ไทยส่งออกไปได้ ต่างกับรถเพื่อการพาณิชย์ที่เกือบทั้งหมดส่งออกไปสหรัฐฯและแคนาดา ทำให้โอกาสใช้ชิ้นส่วนนอกกลุ่ม USMCA ลดลง ยกเว้นรถเพื่อการพาณิชย์ที่ขายในประเทศหรือที่ส่งออกไปประเทศอื่นซึ่งก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อย

  โดยสรุป แนวทางการปรับรูปแบบการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนของค่ายรถ โดยเฉพาะค่ายญี่ปุ่นซึ่งเป็นค่ายรถหลักในไทย ไปสู่กระบวนการผลิตแบบ Agile Supply Chain ที่มากขึ้นนี้ ทำให้ไทยแม้จะนับได้ว่าเป็นฐานการลงทุนหลักของทั้งค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนญี่ปุ่นตลอดช่วงที่ผ่านมา แต่ก็อาจต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นด้วย

   เมื่อปัจจัยที่นักลงทุนพิจารณาไม่ได้มองที่ต้นทุนต่ำและประสิทธิภาพในการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่มองไปถึงการเชื่อมโยงตลาดทั้งในส่วนของการผลิตและการขาย การเข้าร่วมเป็นสมาชิกหนึ่งในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆที่เชื่อมโยงไปยังตลาดผู้บริโภคหลักของโลก

   เช่น ตลาดอียู และตลาดอเมริกา จึงเป็นเรื่องสำคัญในการเพิ่มแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ให้ไทยก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานใหม่ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า ที่เชื่อมโยงเอเชียและตลาดในต่างภูมิภาคให้เข้าหากันมากขึ้น ผ่านการใช้แพลตฟอร์มร่วมที่เพิ่มขึ้น

  ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับกรณีที่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม CPTPP ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ไทยน่าจะมีโอกาสส่งออกรถยนต์ได้มากขึ้นเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 8,500 ล้านบาทต่อปี ภายใน 5 ปีหลังข้อตกลงเริ่มมีผลบังคับใช้ และในอนาคตไทยอาจมีโอกาสถูกจัดวางตำแหน่งให้อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถยนต์เทคโนโลยีใหม่เพื่อรองรับตลาดที่กว้างมากขึ้นจากการมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับหลายภูมิภาค

  ซึ่งอาจมีผลทำให้ไทยส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปในกลุ่ม CPTPP ได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาทต่อปี ภายใน 5 ปีหลังข้อตกลงเริ่มมีผลบังคับใช้เช่นกัน และหากในอนาคตเม็กซิโกสามารถเจรจาเพื่อเข้าร่วมกลุ่มการค้าอเมริกาใต้ หรือ MERCOSUR ได้สำเร็จ ก็จะเป็นโอกาสเพิ่มขึ้นให้กับชิ้นส่วนรถยนต์ไทยที่อยู่ในรถยนต์ผลิตจากเม็กซิโกเพื่อส่งออกไปตลาดอเมริกาใต้ด้วย

  ไม่เพียงเท่านี้ การเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP อาจทำให้เรามีโอกาสเห็นการลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากจีนที่เข้ามายังไทยโดยที่ไม่ใช่แค่เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตในประเทศเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแล้ว แต่เพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น เม็กซิโกและแคนาดาด้วย เนื่องจากปัจจุบันรถยนต์สัญชาติจีนเริ่มได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นในตลาดเม็กซิโกและอเมริกาใต้ จากปัจจัยด้านราคาที่ถูกกว่าทำให้ผู้บริโภคในประเทศเหล่านั้นเข้าถึงได้ง่าย

  อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการแสดงท่าทีของรัฐบาลในการเข้าร่วมเจรจาเข้ากลุ่ม CPTPP นั้นไม่ล่าช้าเกินจนไป ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนให้หันไปลงทุนยังประเทศอื่น ทำให้ไทยเสียโอกาสในการดึงดูดการลงทุนเทคโนโลยีรถยนต์แห่งอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ให้เข้ามาประเทศไม่ได้มากอย่างที่ควร

  โดยเฉพาะเมื่อการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้อย่างแน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นรวดเร็วเพียงใด และหากเกิดกรณีที่เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงระหว่างที่ไทยต้องรอดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆที่อาจกินเวลานานกว่า 5 ปี นับตั้งแต่เริ่มตัดสินใจเข้าร่วมจนสามารถเข้าร่วมได้อย่างเต็มตัว จุดแข็งการมีคลัสเตอร์ชิ้นส่วนรถยนต์ขนาดใหญ่ของไทยอาจไม่ได้เป็นข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าประเทศอื่นอย่างชัดเจนอีกต่อไป

  อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันการเจรจาการค้าเสรีของไทยกับอียูและ CPTPP ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนไทยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตจะยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะมีทิศทางเช่นไร

   แต่ไทยก็ยังมีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่มีอาเซียน และอีก 5 ประเทศสมาชิก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีหน้า ซึ่งจะทำให้การพิสูจน์แหล่งกำเนิดสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกทำได้ง่ายยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนระหว่างกันในหมู่ประเทศสมาชิกมากขึ้น

Let's block ads! (Why?)



"ชิ้นส่วน" - Google News
August 27, 2020 at 08:30AM
https://ift.tt/3jgG9K0

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองเข้าร่วมการค้าเสรีหนุนการลงทุน-ส่งออกอุตฯรถยนต์ไทย - efinanceThai
"ชิ้นส่วน" - Google News
https://ift.tt/2Xuq0IV

No comments:

Post a Comment