พิษโควิดป่วนอุตฯยานยนต์ไม่หยุด สต๊อก “รถเก๋ง-ปิกอัพ” ยังท่วม โรงงานผลิตเดินเครื่องแค่ครึ่งเดียว “ฟอร์ด-มาสด้า-มิตซูบิชิ” ประกาศทำงาน 10 วัน หยุด 10 วัน หลังจากเปิดโครงการสมัครใจลาออก “โตโยต้า” ลดชั่วโมงทำงานไม่ลดคน ชี้กำลังผลิตทั้งระบบเหลือ ขณะที่กำลังซื้อในตลาดเพิ่งกระเตื้อง โรงงานชิ้นส่วนเลย์ออฟต่อเนื่อง สภาอุตฯเชื่อยอดผลิตรถยนต์ปีนี้เต็มที่ได้แค่ 1.4 ล้านคัน ขณะที่ยอดขายรถในประเทศไปไม่ถึง 7 แสนคัน
เอฟเฟ็กต์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยังสะเทือนอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงงานผลิตรถยนต์ เนื่องจากยังมีสต๊อกจำนวนมากระบายไม่ออก ทั้งการขายในประเทศและตลาดส่งออก แม้ว่าตลอดช่วง 2 เดือนที่ไวรัสโควิดทวีความรุนแรง (เมษายน-พฤษภาคม) เกือบทุกโรงงานได้ประกาศหยุดไลน์ผลิตแล้วก็ตาม รวมถึงแต่ละโรงงานมีมาตรการปรับลดคน ทั้งซับคอนแทร็กต์และพนักงานประจำ เปิดโครงการสมัครใจลาออก เปิดโอกาสให้เปลี่ยนอาชีพใหม่ แต่ถึงวันนี้การกลับมาเริ่มผลิตใหม่ของหลาย ๆ โรงงานยังไม่สามารถเดินเครื่องกันได้เต็ม 100%
ทำ 10 วัน หยุด 10 วัน
แหล่งข่าวฝ่ายบริหารโรงงานออโตอัลลายแอนซ์ (เอเอที) โรงงานประกอบรถยนต์ฟอร์ดและมาสด้า จังหวัดระยอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กำลังการผลิตของโรงงานยังเหลืออีกค่อนข้างมาก เท่าที่ใช้อยู่ตอนนี้ประมาณ 50% แม้ว่าก่อนหน้านี้ได้เปิดโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด รวมถึงโครงการทางเลือกเพื่ออาชีพใหม่ ซึ่งเปิดให้พนักงานใช้สิทธิ์มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งอนุมัติไปแล้วราว ๆ 800 ราย แต่สต๊อกเดิมที่ยังค้างอยู่ รวมถึงสถานการณ์โควิดที่เพิ่งคลี่คลาย ตลาดรถยนต์เพิ่งจะเริ่มมีทิศทางดีขึ้น ดังนั้น โรงงานจึงได้ออกข้อกำหนดการทำงาน โดยให้พนักงานทำงาน 10 วัน หยุด 10 วัน เพื่อบาลานซ์กำลังผลิตให้สอดรับกับความต้องการทั้งในประเทศและส่งออก
เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากฝ่ายบริหารโรงงานผลิตรถยนต์มิตซูบิชิ แหลมฉบัง กล่าวเสริมว่า สต๊อกที่ค้างอยู่มีผลต่อแผนการผลิตในช่วงนี้มาก แม้ว่ามิตซูบิชิจะเริ่มกลับมาผลิตตั้งแต่เดือนมิถุนายน หลังจากหยุดไลน์ผลิตยาวในช่วงวิกฤตโควิด
โดยบางโรงให้ทำงานปกติ บางโรงใช้วิธีทำ 10 วัน หยุด 10 วัน และบางโรงตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมาไปจนถึงสิ้นเดือนนี้จะไม่มีแผนการผลิตเลย
“ต้องยอมรับว่าความต้องการในตลาดยังน้อยมาก ในขณะที่กำลังการผลิตของเราเหลือ มิตซูบิชิพยายามปรับลดจำนวนพนักงานกับแผนการผลิตให้สอดคล้องกันมาตลอด เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราประกาศโครงการสมัครใจลาออก และถือเป็นบริษัทอันดับต้น ๆ ที่ให้ค่าตอบแทนและเงินช่วยเหลือสูงถึง 35 เดือน”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า โครงการสมัครใจลาออกมีพนักงานสมัครเข้าร่วมโครงการมากถึง 750 คน สำหรับพนักงานประจำ และยังมีพนักงานอัตราจ้างที่มิตซูบิชิไม่ต่อสัญญาจ้างอีก 1,000 ราย ทั้งส่วนของออฟฟิศและโรงงานเดิมมีอยู่ราว 7,000 คน วันนี้เหลือ 5,000 คน
“ทุกวันนี้ยังมีพนักงานเกินความต้องการอีกราว 300 คน”
โตโยต้าไม่ปลดคนลดเวลาทำงาน
ดร.ภูพาน สมาทา ประธานสหภาพแรงงานโตโยต้า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์การผลิตรถยนต์ของโตโยต้า หลังจากกลับมาเดินสายการผลิตเมื่อเดือน พ.ค. โรงงานทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานสำโรง จ.สมุทรปราการ, โรงงานบ้านโพธิ์ และโรงงานเกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา ทำงานครบทั้ง 2 กะ แต่ลดระยะเวลาการทำงานลง จากเดิมทำงานกะละ 8 ชั่วโมง เหลือ 6-7 ชั่วโมงต่อวัน คาดว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้น่าจะกลับมาเริ่มผลิตได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือทำงานเต็ม 8 ชั่วโมง และบางโรงอาจจะมีโอทีด้วย
นอกจากนี้ ยังต้องโยกพนักงานจากโรงงานเกตเวย์ไปเสริมโรงงานสำโรงและบ้านโพธิ์ เนื่องจากช่วงนี้ตลาดรถยนต์นั่งหดตัวลงมาก ต่างจากตลาดปิกอัพ ซึ่งโตโยต้าเพิ่งแนะนำปิกอัพรีโว่ และฟอร์จูนเนอร์ ซึ่งเริ่มมีคำสั่งซื้อจากตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศเข้ามาแล้ว คาดว่าในเดือนกันยายนน่าจะมีโอทีเพิ่มอีก 1-1.30 ชั่วโมงด้วย
นิสสัน-ฮอนด้าเดินเครื่อง 2 กะ
เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลังปรับลดพนักงานซับคอนแทร็กต์ไปราว ๆ 300 ราย และสมัครใจลาออกอีกราว ๆ 100 คน ทำให้วันนี้ไลน์การผลิตเริ่มเข้าที่เข้าทาง เริ่มกลับมาผลิตเป็นปกติแล้วเต็ม 8 ชั่วโมงเต็ม แต่ไลน์ปิกอัพยังทำเพียงกะเดียว มีเปิดโอทีบางช่วง ส่วนไลน์ผลิตนิสสัน โน๊ต และอัลเมร่า ทำครบทั้ง 2 กะ
ไม่ต่างจากฮอนด้า ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งได้ปรับคนให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด ตอนนี้เริ่มเข้าสู่สภาพปกติคือทำ 3 กะ โดยเฉพาะตลาดรถจักรยานยนต์ และรถยนต์นั่งบางกลุ่ม
“ที่ผ่านมาเราติดปัญหาเรื่องชิ้นส่วนไม่สามารถนำเข้ามาผลิตได้ ตอนนี้การผลิตค่อย ๆ ไต่ระดับเชิดหัวขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่คาดว่าคงได้เพียง 85-90% ไปจนจบปีงบประมาณ ซึ่งสิ้นสุด 31 มี.ค. 2564”
ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองประธานกรรมการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรงงานผลิตรถยนต์ของเอ็มจี ตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมายังไม่หยุดไลน์ผลิตเลย แต่ใช้วิธีหนึ่งสัปดาห์จะทำงาน 4 วัน แล้วมีวันหยุด 3 วันสลับกันไป เพื่อไลน์ผลิตดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันไลน์ผลิตรถยนต์ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีโอทีเท่านั้น ทุกอย่างเป็นปกติตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และยืนยันว่าไม่มีการปลดพนักงาน
ฟอร์ดรับส้มหล่นออร์เดอร์ทะลัก
แหล่งข่าวจากฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผยว่า จริง ๆ ต้องยอมรับว่าความต้องการรถยนต์ในตลาดน้อยลงเยอะมาก รวมถึงสต๊อกที่ผลิตยังมีค้างอยู่อีกระดับหนึ่ง แต่สำหรับฟอร์ดค่อนข้างโชคดี เนื่องจากตลาดส่งออกโดยเฉพาะรัฐบาลออสเตรเลีย มีมาตรการด้านภาษีซัพพอร์ตประชาชนที่ซื้อรถยนต์จึงมีคำสั่งซื้อเข้ามาเยอะ ทำให้เดือนกรกฎาคม โรงงานฟอร์ด (เอฟทีเอ็ม) มีการผลิตรถยนต์ 1 กะ เต็มเวลา และมีโอทีทั้งระหว่างสัปดาห์และในวันเสาร์ ตลอดทั้งเดือน
ชิ้นส่วนปลดคนต่อเนื่อง
ไม่เพียงแต่ผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้นที่ต้องปรับลดพนักงานให้สอดรับกับความต้องการซื้อ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ก็ไม่ต่างกัน มีความจำเป็นต้องปลดคนให้สอดรับกับคำสั่งซื้อ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เห็นบริษัทชิ้นส่วนประกาศปิดกิจการ ปลดพนักงาน
ล่าสุด นายประภัสสร ขอโน้มกลาง ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มบริษัท KYB ประเทศไทย ผู้ผลิตโช้กอัพรถยนต์ และประธานคณะกรรมการลูกจ้าง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้ปลดพนักงานออกไปแล้ว จำนวน 150 คน ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ยังปลดเพิ่มอีก 130 คน จากผลกระทบเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 ยอมจ่ายเงินค่าเลิกจ้างตามกฎหมายกำหนด ตอนนี้อยู่ระหว่างเจรจา ซึ่งอนาคตอาจจะต้องพึ่งพากระทรวงแรงงานเพื่อความเป็นธรรมกับลูกจ้าง
นิวนอร์มอลทำจัสต์อินไทม์เป๋
แหล่งข่าวฝ่ายบริหารบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์เปิดเผยว่า คำสั่งซื้อที่น้อยลง การหยุดไลน์ผลิตและปรับไลน์ผลิตสร้างความยุ่งยากกับผู้ผลิตชิ้นส่วนอย่างมาก สิ่งแรกที่ต้องพิจารณา คือ ต้นทุนและกระแสเงินสด ต้องทบทวนกันใหม่ แม้ว่าที่ผ่านมาทั้งซัพพลายเออร์และผู้ผลิตจะมีการคุยกันตลอดเวลา แล้วดำเนินการตามออร์เดอร์
แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดโควิด ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายได้ปรับวิธีการทำงานใหม่ โดยใช้กรณีศึกษาที่ประเทศจีน ทั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนและระบบโลจิสติกส์ถูกล็อกดาวน์ ไม่สามารถส่งชิ้นส่วนให้โรงงานผลิตรถยนต์ได้ เกิดนิวนอร์มอล จากเดิมที่บังคับซัพพลายเออร์จัดส่งชิ้นส่วนแบบจัสต์อินไทม์ โดยโรงงานผลิตจะไม่สต๊อกชิ้นส่วนไว้เลย ระยะหลังความเข้มงวดตรงนี้น้อยลง ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น
ยันผลิตรถทั้งปี 1.4 ล้านคัน
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์ทยอยดีขึ้น ตลอดปีนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะมียอดผลิตและส่งออกรถยนต์ติดลบแค่ 30-35% แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขจะต้องไม่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก คาดว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ราว 1 ล้าน ถึง 1.4 ล้านคัน โดยการผลิตครึ่งปีแรกมีจำนวนทั้งสิ้น 606,132 คัน ลดลงจากปีที่แล้ว 43% (หน้า 1, 9)
"ชิ้นส่วน" - Google News
July 30, 2020 at 12:10PM
https://ift.tt/39CR0dw
สต๊อกรถยนต์ท่วมโรงงานชิ้นส่วนเลย์ออฟอีก ลดกะทำงาน 10 วันหยุด 10 วัน - ประชาชาติธุรกิจ
"ชิ้นส่วน" - Google News
https://ift.tt/2Xuq0IV
No comments:
Post a Comment